วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สัตว์ประจำชาติไทย


สัตว์ประจำชาติไทยของเรา ก็คือ ช้าง (Elephant)

          ตระกูลช้าง เป็นไปตามอนุกรมวิธาน ดังนี้
Kingdom : Animalia
Phylum : Chordata
Class : Mammalia
Order : Proboscidea
          ลักษณะเด่นของสัตว์ใน Proboscidea คือ มีร่างกายใหญ่โต จมูกและริมฝีปากบนยาว ที่เรียกว่า "งวง" ใช้สำหรับหายใจ จับสิ่งของ และจับอาหารเข้าปาก ฟันหน้าเจริญไปเป็น "งา" ฟันกรามมีขนาดใหญ่ ไม่เกิน 1 คู่ (แต่ช้างโบราณบางชนิด เช่น Dinitherium มีงาที่กรรไกรล่างคู่หนึ่ง และช้างโบราณพวก Tetrabelodon มีงาที่กรรไกรบนคู่หนึ่ง และที่กรรไกรล่างอีกคู่หนึ่ง) ไม่มีฟันเขี้ยว ขาใหญ่ตรงลักษณะคล้ายต้นเสา ขาหน้ามีกระดูก radius และ ulnar บริบูรณ์ ขาหลังก็มีกระดูก tibia และ fibula บริบูรณ์ เท้ามีนิ้วข้างละ 5 นิ้ว แต่เล็บนิ้วก้อยบางตัวนั้นชักจะค่อยๆ หายไป มีกระเพาะอาหารแบบธรรมดา ไม่ได้เป็นกระเพาะอาหาร Compound แบบสัตว์เคี้ยวเอื้อง อย่างวัวหรือควาย ตัวผู้ลูกอัณฑะอยู่ในท้อง ไม่อยู่ในถุงห้อยออกมาอย่างสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่น เสือ วัว ควาย กวาง และสุนัข เป็นต้น ส่วนตัวเมียมดลูกแยกเป็น Bicornuate และมีเต้านม 1 คู่ อยู่ที่หน้าอกระหว่างขาหน้าทั้ง 2 ข้าง
          ช้างโบราณมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน จัดในพวกต่างๆ คือ Elephas 7 ชนิด Mastodon 8 ชนิด Dinotherium 2 ชนิด แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียง Family Elephantidae เพียง Family เดียว มี 2 Genus คือ Genus Elephas ได้แก่ ช้างเอเซีย (Species Elephas maximus) และ Genus Loxodonta ได้แก่ ช้างแอฟริกา (Species Loxodonta africana)

ที่มาของวันช้างไทย
          เกิดจากการริเริ่มของคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น